ทดสอบจากผู้ใช้ Cambridge Audio Azur 840A V2. แอมป์เสียงหวานจากเมืองอังกฤษ






              กลับมาอีกครั้งหลังจากที่พึง Review Marantz PM6004 ไปเมื่อสองเดือนที่แล้ว มาคราวนี้มีเหตุต้องอัพแอมป์ใหม่เนื่องจากมีการอัพเกรดลำโพงนิดหน่อยครับ  เอาล่ะก่อนที่เราจะไปดูรีวิวแนวเสียงของ 840A เรามาดูข้อมูลคร่าวๆของแอมป์ตัวนี้กันก่อนดีกว่า ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง แม้ว่าเจ้า 840A จะออกสู่ตลาดมาระยะปี 1-2 ปีแล้ว แต่ผมเชื่อว่าด้วยความที่เป็นยี่ห้อ Cambridge Audio ก็ทำให้หลายๆคนมองข้ามเจ้าแอมป์ตัวนี้ไป ทั้งๆที่ 840A XD Class มีอะไรที่น่าสนใจมากๆครับ เริ่มจาก

1.XD Class คืออะไร – ผมเชื่อว่าหลายๆคนที่เห็นคำว่า XD ปุ๊ป ก็ตัดสินใจมองข้ามเจ้าแอมป์ตัวนี้ไปทันที ด้วยสาเหตุที่คิดว่าเป็นแอปม์ Class D Digital ที่เสียงสากเสี้ยนจนคนร้อง อี้ๆๆๆๆ ..แต่เดี๋ยวก่อนครับ Class XD ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ Class D แม้แต่น้อย  แต่มันเป็นแอมป์ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Class B ที่ขึ้นเชื่อว่าดีที่สุดแต่ข้อจำกัดในเรื่องของความเพี้ยนที่ค่อนข้างมาก ทำให้แอมป์ในท้องตลาดกว่า 90% หันไปหา Class AB  กันหมด แต่วิศวะกรของ Cambridge Audio มีความเชื่อที่ว่า แอมป์ Class B จะให้พลังในการขับลำโพงที่ดีและเป็นธรรมชาติกว่า จึงออกแบบแผงวงจรรูปแบบใหม่ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Cambridge Audio เท่านั้น ภายใต้ชื่อว่า Class XD


2.วงจรภายในออกแบบจากพื้นฐานวงจรแบบ Dual Mono โดยแยกแผงควบคุมออกจากกันอย่างอิสระ ทั้งภาคควบควม , Pre Amp และ Power Amp และแยกภาคจ่ายไฟระหว่างภาค Power Amp และภาคอื่นๆ (สังเกตุให้ดี มีหม้อแปลง 2 ลูกนะครับ ลูกเล็กไว้เลี้ยงส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคขยาย)


3.กำลัง 120W @ 8 Ohm และขยับเป็น 200W @ 4 Ohm พิสูจน์ว่าภาคจ่ายไฟและกำลังสำรองดีเยี่ยม



4.ระบบป้องกันความเสียหายของตัวแอมป์และลำโพง 5 แบบดังนี้
1)DC Detection
2)Over Temperature
3)Overvoltage
4)Short Circuit
5)Intelligent Clipping
ซึ่งแอมป์ในท้องตลาดทั่วๆไป จะมีเพียงระบบป้องกัน Over Temperature และ Short Circuit เท่านั้น

5.รางวัลมากมายการันตีคุณภาพจากทั่วโลก โดยเฉพาะรางวัลอันทรงเกียรติจาก EISA 


หลังจากทำความรู้จักการกันเบื้องต้นแล้ว เรามาฟังเสียงเจ้า 840A กันดีกว่าครับ ด้วยอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ ดังนี้
-เครื่องเล่น CD Marantz CD53
-สายสัญญา Monitor Kable จำชื่อรุ่นไม่ได้แล้วครับ
-Integrate Amp. Cambridge Audio 840A
-สายลำโพง JPS Super Blue 2
-ลำโพง ProAc Response D1 จัดวางบนทิป-โท ทองเหลือง
-ขาตั้งลำโพงมวลหนัก 4 เสา ไม่ได้ใส่วัตถุถ่วงน้ำหนักใดๆทั้งสิ้น

แผ่นที่จะนำมาทดสอบเอาเพลงง่ายๆ สัก 2-3 เพลงที่คิดว่าท่านน่าจะคุ้นหู

เริ่มจากแผ่น Audiophile Live Song  เพลงที่ 1Careless Whisper โดย  Olive
เริ่มจากเสียงแซ๊กโซโฟนที่พริ้วหวาน มีผ่อนหนัก ผ่อนเบาที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในแอมป์รุ่นเล็กๆ รายละเอียดของเสียงลมที่ลอดผ่านปากแตรแซ๊กโซโฟนที่ชัดเจนและไม่เคยได้ยินมาก่อน และโดดเด่นด้วยเสียงร้องของ Olive ที่ดูจะหวานฉ่ำ เหมือนจะใช้ลูกคอได้เก่งมากขึ้น ลูกเอื้อน ลูกเล่นเทคนิคการร้อง ดูจะถูเปิดเผยมาอย่างหมดจด ชัดเจน แจ่มแจ้ง แต่ปราศจากอากาศสากเสี้ยนใดๆ เสียงเบสที่ Deep Bass ที่ขึ้น และ Upper เบสที่เก็บตัวได้เร็ว ไร้อาการหย่อนยาน หรือ เบสครางใดๆทั้งสิ้น ด้วยกำลัง 120W ที่จัดการเจ้า D1 ได้อย่างอยู่หมัดนั้นเอง จากอัลบั่มเพลงชุดนี้ที่อัดมาแนวเสียงค่อนข้างสด กระจ่าง แต่เมื่อฟังผ่านจาก Cambridge Audio ความสดกระจ่างดังกล่าว ดูเหมือนจะผ่อนคลายลง ในโทนกลางๆ ที่มีความรื่นไหล รายละเอียดและบรรยากาศเข้ามาแทนที่  แต่ก็ยังคงไว้ด้วยแรงปะทะของเสียงกลองและเสียงเปียนโนที่ชัดเจนและมีกำลัง



เพลงที่ 2 Jazz Variance จากแผ่น Manger 
ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมของวงการนี้ไปซะแล้ว กับเพลงบรรเลงในสไตล์เครื่องเคาะ (Percussion) กับเพลง Jazz Variance ด้วยความสามารถที่ถ่ายทอดเสียงหลุดตู้ของ D1 เป็นพื้นฐานเดิม บวกกับพละกำลังที่มากมายของ 840A ให้เพลงนี้สเกลของวงดนตรีใหญ่โตหลุดตู้ลำโพงทั้งในด้านกว้างและด้านลึก ตำแหน่ง ทรวงทรงถูกตรงไว้อย่างชัดเจนไม่มีวอกแวก เนื้อเสียงของเครื่องเคาะที่กลมใส ไม่บี้แบน มีแรงปะทะ ไม่เจี๊ยวจ๊าว Deep Bass ที่มหาศาล ทำให้ลำโพงเสียงกลางต่ำของ D1 แค่ 5 นิ้วครึ่ง แต่กลับถ่ายทอดเสียงกลองขนาดใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เสียงกลองตึง กระชับ ยิ่ง Deep Bass ในช่วงท้ายๆเพลงมันช่างสะใจดียิ่งนัก ซึ่งเครื่องเสียงชุดนี้โชว์ศักยภาพของพละกำลังและความสามารถในการสร้างสนามเสียงแบบสามมิติ



เพลงที่ 3 เอาเพลงแบบบ้านๆบ้าง ด้วยเพลงของก๊อต จักรพรรณ กับเพลงคืนนี้พี่คอยเจ้า
“คืนนั้นมีเธอซบอิงอกฉัน ออเซาะอ้อนคำรำพัน เสกสรรเอ่ยคำปลอบใจ” ดูเหมือนพี่ก๊อต จะขี้อ้อนขึ้นอีกแล้ว ลูกเอื้อน ลูกคอ มีความผ่อนหนักผ่อนเบากว่าที่เคย ขนาดของเสียงร้องใหญ่กว่าฟังจากแอมป์ตัวเก่าชัดเจนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น จากเสียงพี่ก๊อตที่เหมือนร้องผ่านไมค์แล้วปรับแต่งให้สียงอวบอิ่มเล็กน้อยเมื่อฟังจากแอมป์ตัวเก่าๆ แต่จาก 840 A เสียงพี่ก๊อตเป็นธรรมชาติ ไร้สีสันแต่งแต้มมากขึ้น และสิ่งนึงที่ผมชอบนั้นก็คือ เสียงจัดๆจ้านของเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงเมืองไทย ผ่อนคลายลงเมื่อได้ฟังผ่านเจ้า Cambridge Audio



สรุปเพราะกลัวจะยาวเกินไป 
 Cambridge Audio A840  เป็นแอมป์ที่เสียงโทนหวาน ฉ่ำ ออกโทนกลางๆ ลื่นไหล ไร้ความซากเสี้ยน แต่คงไว้ด้วยแรงปะทะของทุกย่านเสียง แม้กระทั้งเสียงโน๊ตเล็กๆ เช่นเสียงเปียนโนที่เป็น Back Ground ของเพลงบางเพลง เสียงจากแผ่นหลายๆแผ่นที่แต่งแต้มเยอะๆ ก็ผ่อนคลายเป็นธรรมชาติลง แต่เสียงจากบางแผ่นที่จืดๆอยู่แล้ว ก็สามารถถ่ายทอดเสียงได้ครบถ้วนพอดีพอเหมาะ ไม่ขาดสีสันที่ทำให้ชวนเบื่อ
แนวเสียงแอมป์แบบนี้ฟังติดหูได้ง่าย หาลำโพงจับก็ง่าย เพราะดูบุคลิคในตัวเองแทบไม่มี แนวเสียงจะเปลี่ยนไปตามแหล่งโปรแกรมที่นำมาเล่นซะมากกว่า บวกกับพละกำลัง 120W ที่หาคู่แข่งมาเทียบได้ยากในแอมป์ราคาระดับนี้ เล่นได้ตั้งแต่ลำโพงเล็กๆแต่กินวัตต์ของ D1 จนไปถึงลำโพงตั้งพื้นตัวขนาดเขื่อง  แต่ด้วยยี่ห้อ Cambridge Audio ที่ตลาดเมืองไทยไม่ค่อยยอมรับ ก็ทำให้คนมองข้ามมันไปซะอย่างงั้น ทั้งๆที่เสียงของ 840A สามารถชนกับ KRELL : S-300i ได้สบายๆเลยล่ะครับ (ความคิดของผมนะ)

Class XD จะร้อนกว่าแอมป์ทั่วไป เพราะพัฒนามาจาก Class B ดังนั้นไม่ต้องตกใจหรือกังวลไป เพราะในเครื่องมีระบบป้องกันความร้อนไว้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผมชอบหลายๆอย่างใน 840A คือ
1.แนวเสียงที่เป็นธรรมชาติ
2.งานประกอบเนียบมากๆ
3.ราคาคุ้มค่า คุ้มราคา ไม่ได้แพงเว่อร์เกินความจำเป็น
4.ลูกเล่นมากมาย เช่น เปลี่ยนชื่อ Input ได้, ระบบ volume ramp เบาเสียงเอง เวลาเปิด-ปิดเครื่อง , ฯลฯ
5.แผง Display เท่ห์สวยงาม มีเสน่ห์ แสดงความเป็น Hi-End แท้ๆ

วันนี้ใครสนใจตัวนี้จะกลายเป็นรุ่น 851A ไปแล้ว ที่พัฒนาต่อยอดจาก 840A ในหลายๆด้าน และเสียงน่าจะดีกว่าเดิมซะอีก ใครสนใจผมว่าไปทดลองฟังเสียงดูได้ครับ แม้อาจไม่ตกหลุมรักในครั้งแรกที่ได้ยินเสียง แต่เสียงของมันจะหลอกหลอนคุณไปเรื่อยๆทันทีที่ได้ฟัง เพราะความนวลเนียน หวานฉ่ำ เหมือนกินสเต๊กเนื้อชันดี ที่ย่างมาแบบ Medium หวานฉ่ำ นวลเนียน เวลาเคี้ยวอยู่ในปาก อารมณ์ปานนั้นเลยล่ะครับ ..... 

ความคิดเห็น